วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กิจกรรม (Activity)



กิจกรรม (Activity)

สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง  ประเภทของหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร

ประเภทของการออกแบบหลักสูตร
    หลักสูตรโดยทั่วไปถูกออกแบบตามสาขาวิชา (Discipline)เช่น วิศวกรรมศาสตร์มนุษยศาสตร์  วิทยาศาสตร์ หรือออกแบบตามขอบข่ายเนื้อหาสาระ (Field) เช่น ศิลปะ  หน้าที่พลเมือง  สังคมศึกษา หรือออกแบบเป็นหน่วย (Unit) เช่น หน่วยดนตรีแจ๊ส  หน่วยสื่อสารมวลชน หรือออกแบบตามศูนย์กลางการจัดระเบียบ (Organizing Centers) เช่น กระบวนการ โครงการ ภาระงาน  หรือออกแบบตามการติดตามความสนใจ (Personal Persuits) เช่น ชมรมแอร์โรบิก ชมรมประกอบอาหาร

ออร์นสไตน์และฮันกิน (Ornstein and Hunkins, 1998) ได้สรุปการจัดกลุ่มแนวคิดการออกแบบหลักสูตรไว้ 3 กลุ่ม ได้แก่
1. การออกแบบหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาวิชา (Subject-centered Design) ซึ่งอาศัยแนวคิดปรัชญา
การศึกษาที่สำคัญ คือสารัตถะนิยมและนิรัตรนิยมเป็นหลัก ได้แก่ หลักสูตรแบบรายวิชา (Subject Design)หลักสูตรแบบสาขาวิชา(Discipline Design) หลักสูตรแบบหมวดวิชา (Broad Fields Design) หลักสูตรสัมพันธ์วิชา (Correlation Design) และ หลักสูตรเน้นกระบวนการ (Process Design)

2. การออกแบบหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Learner-centered Design) เป็นหลักสูตรที่มอง
ประโยชน์ของผู้เรียนโดยคำนึงถึงความต้องการและความสนใจของผู้เรียน ได้แก่  หลักสูตรเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  (Child-centered Design) หลักสูตรเน้นประสบการณ์ (Experience-centered Design)  หลักสูตรแบบจิตนิยม (Romantic/ Radical Design) และ หลักสูตรมนุษยนิยม (Humanistic Design)

3.  การออกแบบหลักสูตรที่เน้นปัญหาสังคมเป็นสำคัญ(Problem-centered Design) เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นภาระหน้าที่ ชีวิตภายในสังคม สถานการณ์ในสังคม  เน้นสภาพของสังคม ปัญหาสังคมเป็นหลัก ได้แก่ หลักสูตรเน้นสถานการณ์ของชีวิต (Life-situation Design) หลักสูตรแกนกลาง(Core Design) และหลักสูตรเน้นปัญหาและปฏิรูปสังคม (Social Problems and Reconstructionist Design)

การออกแบบหลักสูตรตามแนวคิดของปริ้นส์  ลาลวานี(Princess Lalwani, 2012)
1.  การออกแบบหลักสูตรที่เน้นเนื้อหาสาระเป็นสำคัญ(Subject-centered Curriculum Design)
 มุ่งเน้นเนื้อหาสาระเป็นฐาน ให้ความสำคัญกับการจัดการในเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ กลยุทธ์และทักษะชีวิต เช่น การแก้ปัญหา  การตัดสินใจหรือทีมงาน

2. การออกแบบหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ(Learner-centered Curriculum Design) มี
สาระสำคัญอยู่ที่ความคาดหวังเกี่ยวกับผู้เรียนที่จะได้สำรวจความต้องการในชีวิตของตนเอง ครอบครัว หรือสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ผู้เรียนจะไม่ถูกกำหนดให้เป็นผู้กระทำ แต่จะได้รับการสนับสนุนให้เรียนรู้โดยการมีปฎิสัมพันธ์กับผู้สอนและสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผู้เรียน ได้เรียนรู้แบบเปิดและเป็นอิสระ โดยเลือกกิจกรรมจากครูจัดให้หลากหลาย

3. การออกแบบหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์ของผู้เรียน (Learner-centered
 Curriculum Humanistic Design) การเรียนรู้ในอุดมคติของของมนุษย์เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึกและการกระทำ แนวคิดในการพัฒนาตนเองในทางบวก (Positive self-concept) และทักษะระหว่างบุคคล (Interpersonal skills)

4. การออกแบบหลักสูตรแบบปัญหาเป็นฐาน (Problem-centered Curriculum Design)  เป็น
การสนับสนุนชีวิตจริงของผู้เรียน เพราะต้องเสาะแสวงหาความรู้และแก้ปัญหา ปัญหาต่าง ๆเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในชีวิตจริง โดยการฝึกการแก้ปัญหาในโรงเรียนด้วยการเลือกประเด็นปัญหาในเชิงปรัชญาหรือเชิงจริยธรรมในแต่ละท้องถิ่น

5. การออกแบบหลักสูตรตามกระบวนการการพัฒนาหลักสูตร (Curriculum Development
Models Design) มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสอนและการเรียนรู้ หลักสูตรแบบนี้ให้ความสำคัญกับจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของหลักสูตร เป็นการออกแบบโดยกลุ่มนักวางแผนการศึกษา มีการตัดสินใจที่มาจากฝ่ายการเมืองและกลุ่มตัวแทนสังคมต่าง ๆ แนวคิดการออกแบบหลักสูตรมีดังนี้
      5.1  การออกแบบหลักสูตรกลุ่ม (Deductive Models) ให้ความสำคัญกับการกำหนดจุดมุ่งหมายของการศึกษาและการระบุวัตถุประสงค์เฉพาะที่แสดงความสำเร็จ ไทเลอร์กล่าวว่าการออกแบบหลักสูตรด้วยธรรมชาติและโครงสร้างความรู้ต้องมุ่งตอบสนองความต้องการจำเป็นของผู้เรียน
      5.2  การออกแบบหลักสูตรกลุ่ม (Inductive Models)เป็นการออกแบบตามแนวคิดของทาบาซึ่งเชื่อว่าผู้สอนจะต้องเป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการด้วยการสร้างหน่วยการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนในโรงเรียนด้วยตนเอง


หลักการออกแบบหลักสูตรของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ(Griffith University)
          สถาบันการศึกษาควรจัดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ให้สัมพันธ์กับกิจกรรมการสอนซึ่งจะมีผลการเรียนรู้ทางบวก ทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะ ความรู้ เจตคติและพฤติกรรม มีหลักการดังต่อไปนี้
          1.สร้างประสบการณ์ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม มีแรงจูงใจและมีแรงกระตุ้นทางปัญญา
          2. ส่งเสริมการสืบค้นและตั้งคำถามอย่างมีวิจารณญาณและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
          3. เน้นการเชื่อมโยง การบูรณาการทฤษฎีและองค์ความรู้ด้วยการปฏิบัติอย่างมืออาชีพเพื่อนำไปแก้ปัญหาในชีวิตจริง
          4. ให้ประสบการณ์ที่พัฒนาความสามารถระหว่างวัฒนธรรม สังคมของนักเรียนที่แตกต่างและการตอบสนองทางจริยธรรมของสังคมโลก
          5. ให้ความสำคัญกับคุณค่า ความทรงจำและวัฒนธรรมที่หลากหลายของบุคคล
          6. เพิ่มการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของผู้เรียน
          7. การปรับปรุงการสอนอย่างต่อเนื่อง

การออกแบบหลักสูตรของสก็อตแลนด์
          หลักการพื้นฐาน 7 ประการ ซึ่งต้องคำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียนและการพัฒนาการของแต่ละคน
1. กระตุ้นความท้าทายและความพอใจ (Challenge and enjoyment)โดยผู้เรียนจะได้รับ
ประสบการณ์ที่หลากหลายอย่างเหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ได้พัฒนาและแสดงความคิดสร้างสรรค์
2. ขยายขอบเขตความรู้ (Breadth) ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้อย่างกว้างขวางและ
เหมาะสมภายใต้บริบททั้งภายในชั้นเรียนและบรรยากาศของโรงเรียน
3. ความก้าวหน้า (Progression) ผู้เรียนจะมีอัตราความก้าวหน้าที่เป็นไปตามความต้องการและ
ความถนัด
4. ความคิดลึกซึ้ง (Depth) ให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถตามความแตกต่างและการคิดของแต่ละ
คน
5. บุคลิกภาพและทางเลือก (Personalisation and choice)หลักสูตรต้องตอบสนองความต้องการ
จำเป็นของบุคคล โดยเฉพาะและความเป็นเลิศของผู้เรียน
6. การเชื่อมโยง (Coherence) กิจกรรมการเรียนรู้จะต้องเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของผู้เรียน
7. ความสัมพันธ์ (Relevance) ผู้เรียนต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายของกิจกรรม โดยเห็นคุณค่าในการ
เรียนรู้และความสัมพันธ์กับชีวิตของผู้เรียนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

การออกแบบหลักสูตรรายวิชา
          เวสมินส์เตอร์ เอ็กเชงจ์ มหาวิทยาลัยเวสมินส์เตอร์ให้ข้อเสนอแนะในการออกแบบหลักสูตรรายวิชาโดการตอบคำถามต่อไปนี้
1.  ผู้ออกแบบคาดหวังว่าอะไรที่จะช่วยให้หลักสูตรนี้ประสบความสำเร็จ
2.  สถาบันการศึกษาหรือสิ่งแวดล้อมภายนอกอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อหลักสูตรรายวิชา
3.  การประกันคุณภาพมีความสัมพันธ์กับหลักสูตรอย่างไร
4.  อะไรเป็นแบบจำลองที่ตรงกับความประสงค์ในการออกแบบหลักสูตร
5.  อะไรเป็นจุดหมายและผลการเรียนรู้ของหลักสูตร
6.  ประเมินผลการเรียนรู้ที่คาดหวังอย่างไร
7.  อะไรเป็นกลยุทธ์ในการเรียนรู้ การสอนและการประเมิน
8. จะต้องปรับพื้นฐานความรู้ก่อนที่จะเรียนรายวิชาหรือไม่
9. จะส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไร จะวางแผนการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรอย่างไร
10. หลักสูตรจะพัฒนาผู้เรียนที่มีความหลากหลายหรือไม่

การออกแบบหลักสูตร : การเลือกประสบการณ์ในการเรียนรู้
          ออร์นสไตน์และฮันกิน (1998) กล่าวว่าการออกแบบหลักสูตรมีสิ่งที่เกี่ยวข้อง 4 องค์ประกอบ ได้แก่ วัตถุประสงค์ เนื้อหาสาระ ประสบการณ์การเรียนรู้ และการประเมินผลการเรียนรู้

          ฮาเด็น (Harden, 1986) ได้นำแนวคิดว่า ผลการเรียนรู้เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการวางแผนหลักสูตร แนวคิดนี้ยังปรากฏในงานของบลูม (1956) ซึ่งเขาได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการศึกษาเป็น 3   ปริเขต ได้แก่ ปริเขตพุทธพิสัย (Cognitive Domain) เป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้  ปริเขตจิตพิสัย(Affective Domain) เป็นวัตถุประสงค์เกี่ยวกับทัศนคติ และปริเขตทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับทักษะเคลื่อนไหว

ปริเขตพุทธิพิสัย (Cognitive Domain)  อนันต์ ศรีโสภา(2520) สรุปไว้ว่าตามแนวคิดของบลูมและคณะ จุดมุ่งหมายด้านนี้จำแนกออกเป็นพฤติกรรมย่อย ๆ 6 ชั้นซึ่งเรียงจากง่ายไปยากดังนี้
1.  ความรู้ (Knowledge) ซึ่งแบ่งเป็น ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาโดยเฉพาะ  ความรู้เกี่ยวกับวิธีและการดำเนินงานที่เกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะหรือความรู้ที่เกี่ยวกับการรวบรวมแนวคิดและโครงสร้างของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
2.  ความเข้าใจ (Comprehension) ได้แก การแปลความ การตีความ การขยายความ
3. การนำไปใช้ (Application) นำสาระสำคัญต่าง ๆไปใช้ในสถานการณ์จริง
4. การวิเคราะห์ (Analysis) คือการแยกเรื่องราวเป็นส่วนย่อย ๆ
5. การสังเคราะห์ (Synthesis) การรวมส่วนประกอบต่าง ๆเข้าด้วยกัน
6. การประเมินค่า (Evaluation) การตัดสินคุณค่า การประเมินค่าโดยอาศัยข้อเท็จจริงภายในและภายนอกมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา

บลูมและคณะได้แบ่งความคิดออกเป็นระดับต่ำและระดับสูง ดังนี้
ความคิดระดับต่ำ 3 ระดับ ได้แก่
ระดับ 1 : ความรู้ (ระลึกและสามารถเรียกข้อมูลกลับ)
ระดับ 2 : ความเข้าใจ (แปลความหมายและการแสดงออกว่ามีความเข้าใจ)
ระดับ 3 : การนำไปใช้ (การประยุกต์ใช้ความรู้ในสถานการณ์ใหม่)
ความคิดระดับสูง 3 ระดับ ได้แก่
ระดับ 1 : การวิเคราะห์ (ระบุความสัมพันธ์และเหตุจูงใจ)
ระดับ 2 : การสังเคราะห์ (เชื่อมโยงข้อเท็จจริงด้วยเหตุผลหรือในรูปแบบใหม่)
ระดับ 3 : การประเมิน (ใช้เกณฑ์และสถานการณ์เพื่อวินิจฉัยและการตัดสินผล)

ปริเขตจิตพิสัย (Affective Domain)  บลูมและแครทโฮล แบ่งจิตพิสัยเป็นลำดับดังนี้
1. การรับรู้ (Receiving or attending) การยอมรับหรือเอาใจใส่ต่อสิ่งเร้า เช่น ความตั้งใจเรียน การ
ฟังอย่างตั้งใจ  การรับรู้จำแนกเป็นพฤติกรรมย่อย ได้แก่ การรู้ตัว (ไม่อยู่ในสภาพใจลอย)  การเต็มใจ (ไม่หลีกเลี่ยง) และการควบคุมหรือคัดเลือกการรับรู้ (การควบคุมสมาธิ การติดตามสังเกต)

2.  การตอบสนอง (Responding) การแสดงออกด้วยความสนใจ ความเต็มใจในสิ่งเร้า เต็มใจที่จะมีส่วนร่วม เช่น เต็มใจอ่านหนังสือหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ การตอบสนองจำแนกเป็นพฤติกรรมย่อย ๆ ได้แก่ การยอมทำตาม  การตอสนองด้วยความยินดี  และการตอบสนองที่มีความพึงพอใจ

3. ค่านิยม (Valuing) ความรู้สึกหรือความสำนึกจนกลายเป็นความเชื่อและทัศนคติ ค่านิยมจำแนกเป็นพฤติกรรมย่อย ๆ ได้แก่ การยอมรับในค่านิยม  ความรู้สึกชื่นชอบในค่านิยมนั้น   การยึดมั่นในค่านิยมนั้น

4. การจัดระบบ (Organization) ค่านิยมหรือคุณค่า เน้นคุณค่าทางจิตใจโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์และโครงสร้างของค่านิยม เป็นระดับพฤติกรรมด้านจิตใจที่สูงขึ้น  จำแนกเป็น 2 ข้อย่อย ได้แก่ การสร้างมโนทัศน์ของคุณค่า  คือ การมีความรู้เกี่ยวกับค่านิยม การมองเห็นความสัมพันธ์ของคุณค่ากับสิ่งที่ตนเองยึดถือ  และ การจัดระบบคุณค่า คือการนำเอาคุณค่ามาจัดเป็นระบบ

5. การสร้างลักษณะนิสัย (Characterization by a value or value complex) เมื่อแต่ละคน
ค่านิยมใดแล้วก็จะควบคุม ให้บุคคลนั้นแสดงออกเป็นพฤติกรรม จำแนกย่อย ๆ ได้แก่การมีหลักยึดในการตัดสินใจหรือพิจารณาสิ่งต่าง ๆ และการแสดงลักษณะนิสัยที่เป็นไปโดยสมบูรณ์

การออกแบบหลักสูตรด้วยแนวคิดวัตถุประสงค์เป็นฐาน(Objective-Based Approach)

           ข้อดี
1. วัตถุประสงค์ที่เขียนดีและมีรายละเอียดผลการเรียนรู้จะช่วยให้ผู้สอนและผู้เรียนเห็นภาพ
พฤติกรรมที่คาดหวังชัดเจนเมื่อเรียนจบซึ่งจะช่วยในการจัดทิศทางและเกิดเสถียรภาพในรายวิชา
2. ผลการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องชัดเจนหรือการพรรณนาความสามารถช่วยในการปรับวิธีสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
3. ผู้สอนเป็นผู้กำหนดวัตถุประสงค์ ต้องเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการประเมินเพราะผู้สอนทราบดีว่าควรประเมินพฤติกรรมใด พฤติกรรมที่แตกต่างกันต้องใช้การประเมินที่แตกต่างกัน
4. การเขียนรายงานผลการเรียนรู้หรือการพรรณนาความสามารถมีประโยชน์ที่สุดในการพัฒนา
แบบฝึกหัดได้อย่างถูกต้อง

          ข้อจำกัด
1. วัตถุประสงค์อาจให้สถานภาพ (Status) มากกว่าที่เป็น ไม่ควรทำราวกับจุดประสงค์เป็นสิ่ง
ศักดิ์สิทธิ์ (Sacrosanct) แต่มันเป็นการพิจารณาคุณค่าบางส่วนของผู้เรียนคนหนึ่งเท่านั้น
2. การสอนและการเรียนรู้อาจถูกกำหนดมากเกินไปจนทำให้ความคิดริเริ่มชะงัก
3. ผลการเรียนรู้และการพรรณนาความสามารถยากและใช้เวลา ผู้สอนหลายคนอาจรู้สึกไม่ค่อยมีเวลาเขียนวัตถุประสงค์หรือผลการเรียนรู้ที่ดี
4. การพัฒนารายวิชาหรือหลักสูตรเป็นกระบวนการวัฎจักรต่อเนื่อง ทั้งวัตถุประสงค์และผลการ
เรียนรู้ควรมีการทบทวนบ่อย ๆ หากไม่ได้สะท้อนการตีความที่ถูกต้องของการเน้นและทิศทางของรายวิชาก็ควรเปลี่ยนวัตถุประสงค์และผลการเรียนรู้นั้น

ปริเขตทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)  คิบเลอร์ได้จัดลำดับทักษะพิสัยดังต่อไปนี้
1. ระดับการเลียนแบบ  เช่น การคัดลายมือตามตัวอย่าง
2. ระดับการลงมือทำตาม เช่น การเขียนแบบ การวาดรูป
3. ระดับความแม่นยำ เช่น การฝึกพิมพ์ดีดให้เร็วและถูกต้อง
4. ระดับความต่อเนื่อง เช่น การขับรถยนต์
5. ระดับการกระทำจนเคยชิน เช่น การซ่อมมอเตอร์ไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

โดยสรุป ประเภทของวัตถุประสงค์และผลการเรียนรู้มี  5 ประเด็น ดังนี้
1. ความคิดระดับต่ำ (ความรู้ ความจำ ความเข้าใจ)
2. ความคิดระดับสูง (การประยุกต์  การวิเคราะห์  การสังเคราะห์ และการประเมิน)
3. จิตพิสัย (การรวมวัตถุประสงค์ทั้งหมดและผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ทัศนคติและ
คุณค่า)
4. ทักษะ (การรวมวัตถุประสงค์ทั้งหมดและผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับทักษะ ความคล่องแคล่ว
ในการทำงานด้วยตนเอง การประสานงานของมือและตา ความสามารถในการฝึก)
5. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ครอบคลุมทักษะชีวิตที่หลากหลายที่ไม่มีใน 3 ปริเขตตามแนวคิดของบลูม รวมทั้งวัตถุประสงค์ทั้งหมดและผลการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร(การเขียนและการพูด) การฟัง การทำงานเป็นทีม การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การแสดงภาวะผู้นำ


ตรวจสอบทบทวน (Self-Test)



ตรวจสอบทบทวน (Self-Test)

ในการจัดการศึกษาของไทยควรนำหลักสูตรประเภทใดมาใช้ด้วยเหตุผลใดเป็นสำคัญ

             ทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างหลักสูตรการศึกษาไทยมี 3 ส่วน คือ การกำหนดจุดประสงค์ เป็นสิ่งคาดหวังในระดับโรงเรียนและสามารถวัดได้ แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านพุทธิพิสัย จิตพิสัยและทักษะพิสัย เกณฑ์การเลือกเนื้อหาเน้นความเป็นประโยชน์ ความสนใจของผู้เรียน และการพัฒนาการของมนุษย์ ด้านการพัฒนาหลักสูตรโดยเฉพาะกระบวนการออกแบบและพัฒนาหลักสูตร ได้แก่ พื้นฐานด้านปรัชญา ด้านจิตวิทยา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและด้านสังคม การจัดการศึกษาไทยเริ่มมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน จัดเป็น 2 รูปแบบ คือ การจัดการแบบโบราณกับการจัดการศึกษาแบบใหม่หรือการจัดการศึกษาแบบปัจจุบัน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 มาตรา 15 ได้กำหนดการจัดการศึกษามี 3 รูปแบบ ได้แก่ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย


หลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum)
บันทึกจากการเรียนรู้นอกชั้นเรียน
           การศึกษาเรียนรู้วันนี้คือ การศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรแฝง ซึ่งจากนิยามหลักสูตรซึ่งมีมากมายหลายนิยาม แต่มีจุดร่วมกันประการหนึ่ง คือ “เป็นรูปธรรม” มีความน่าสนใจมากสำหรับรูปแบบหนึ่งของหลักสูตรที่ใครหลายคนอาจยังไม่ได้รู้จัก แต่เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายดายจากการศึกษาต่อไปนี้

             หลักสูตรต่างๆยังไม่อาจสรุปประเด็นได้ชัดเจนทั้งหมด ทุกหลักสูตรยังมีสิ่งแอบแฝงอยู่ซึ่งเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นหลักสูตรแฝง ซึ่งหมายความว่า เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า การจะทำให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับหลักสูตรแฝงทำได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็อาจจะมองเห็นได้จากพลังที่มีอยู่ในโรงเรียน และส่งผลต่อการยอมรับของโรงเรียน ของเขตพื้นที่ และของชุมชน กระบวนการทางสังคม ซึ่งอาจเกิดจากโรงเรียน ชุมชน มักจะส่งผลให้เกิดหลักสูตรแฝง ธรรมชาติของหลักสูตรแฝงมักจะไม่ค่อยมีการเปิดเผยหรือมีผู้เอาใจใส่มากนัก อาจเป็นวิธีการในการสอนนักเรียนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ทางสังคม ค่านิยม การดำเนินชีวิตซึ่งสั่งสมมาจนทำให้เป็นความคาดหวังหรือปฏิบัติเป็นประจำมาก่อนเป็นเวลานาน ข้อเสียประการหนึ่งของหลักสูตรแฝง คือ การเกิดความเดียดฉันท์ต่อนักเรียนในด้านวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ เชื้อชาติวิธีการขจัดปัญหาด้านนี้ คือ โรงเรียนจะต้องวิเคราะห์สภาพทั่วๆ ไปของโรงเรียนให้ถ่องแท้

            โดยทั่วไปโรงเรียนจะประสบความสำเร็จมากในการสอนให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านพุทธิพิสัย และทักษะพิสัย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีการสอนและการประเมินผลที่จัดให้เกิดความสอดคล้องกันได้ง่ายและกระทำได้ง่าย แต่โรงเรียนจะมีปัญหาในการสอนนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านจิตพิสัยซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิต อารมณ์และการกระทำที่สอดคล้องกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นเรื่องของการสอน เจตคติ ค่านิยม และความประพฤติที่พึงประสงค์ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้โดยการบรรยาย หรือการใช้คำพูดสั่งสอน เพราะโดยธรรมชาติและหลักข้อเท็จจริง เด็กจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ใช้คำพูดสั่งสอน  เพราะโดยธรรมชาติและหลักข้อเท็จจริง เด็กจะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากตัวอย่างและการกระทำของผู้ใหญ่และผู้อยู่ใกล้ชิดมากกว่า

สรุป (Summary)



สรุป (Summary)
                   ความคิดเกี่ยวกับ “ประเภทของหลักสูตร” ที่กล่าวมานี้ จะมีประโยชน์ต่อการประเมินผลและการวิเคราะห์หลักสูตร เป็นการช่วยในนักพัฒนาหลักสูตรได้หันมาพิจารณาหลักสูตรให้ครบอีกครั้งว่า จุดหมายและเนื้อหาของหลักสูตรที่กำหนดไว้แล้วนั้นเหมาะสมแล้วหรือยัง มีเนื้อหาใด กระบวนการคิด และความรู้สึกประเภทใดที่เป็นประโยชน์ และสำคัญควรที่ผู้เรียนรู้ แต่ไม่มีในหลักสูตรก็จะได้ประชุมหารือกันระหว่างนักพัฒนาหลักสูตร และผู้รับผิดชอบ เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป


หลักสูตรสูญ



9. หลักสูตรสูญ ( Null Curriculum)
              หลักสูตรสูญหรือ Null Curriculum เป็นความคิดและคำที่บัญญัติขึ้นโดยไอส์เนอร์ (Eisner,1979)แห่งมหาวิทยาลัยแตนฟอร์ด   สหรัฐอเมริกา หลักสูตรสูญ เป็นชื่อประเภทของสูตรที่ไม่แพร่หลาย และไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในระหว่างนักการศึกษา และนักพัฒนาหลักสูตรด้วยกัน
              เขาได้นิยามหลักสูตรสูญว่า   เป็นหลักสูตรที่ไม่ได้มีปรากฏอยู่ให้เห็นในแผนการเรียนรู้ และเป็นสิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอน
              เขาได้อธิบายถึงความเชื่อของเขาในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่ไม่ปรากฏอยู่ในตัวหลักสูตรและสิ่งที่ครูไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า ความรู้หรือการขาดสิ่งที่ควรจากรู้ไม่ได้เป็นแต่เพียงความว่างเปล่าที่หลายคนอาจคิดว่าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด  แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การขาดความรู้ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบที่สำคัญมาก ในแง่ที่ทำให้ผู้เรียนขาดทางเลือกที่เขาอาจนำไปใช้แก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตของเขาได้ นั้นก็คือ  การขาดความรู้บางอย่างไปอาจทำให้ชีวิตของคนๆ หนึ่งขาดความสมบูรณ์ได้
              นอกจากนี้ยังอธิบายเพิ่มเติมได้ว่า หลักสูตรสูญได้แก่ ทางเลือกที่ไม่ได้จัดเตรียมไว้ให้ผู้เรียน ความคิดและทรรศนะที่ผู้เรียนไม่เคยสัมผัสและเรียนรู้สิ่งที่ผู้เรียนจะนำไปประยุกต์ใช้ได้แต่มีไว้ไม่พอ รวมทั้งความคิดและทักษะที่ไม่ได้รวมไว้ในกิจกรรมทางปัญญา 


             1. ประเด็นที่ควรพิจารณา
              ในการกำหนดหลักสูตรสูญขึ้นมานั้นมีสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรกได้แก่ กระบวนการทางปัญญา (Cognitive process) ที่โรงเรียนเน้นและละเลย ประเด็นที่สองได้แก่ เนื้อหาสาระที่มีอยู่และที่ขาดหายไปจากหลักสูตร

              ในประเด็นของกระบวนการทางปัญญานั้น ไอส์เนอร์ หมายถึง กระบวนการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการรู้ โดยเริ่มจากการรับรู้สิ่งเร้าต่างๆ ไปจนถึงการคิดหาเหตุผลทุกรูปแบบ เขาได้มองลึกลงไปว่า แนวความคิดทางด้านศึกษาศาสตร์ได้จำกัดความหมายของกระบวนการทางปัญญาให้แคบลงไป  และโรงเรียนก็พยายามเน้นและพัฒนาความคิดของนักเรียนให้อยู่ภายในขอบเขตที่กำจัด โดยเขาเชื่อว่ายังมีรูปแบบการคิดที่เป็นประโยชน์อีกมาก แต่ไม่เปิดเผยออกมาทางวาจา รวมทั้งการคิดที่ขาดเหตุผลเชิงตรรกะ รูปแบบเหล่านี้จะทำหน้าที่ของมันผ่านกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเห็น การฟังการเปรียบเทียบ และการสังเคราะห์   กระบวนการคิดแนวนี้ทางโรงเรียนให้ความสนใจน้อยมาก ทั้งๆ ที่การติดตามรูปแบบนี้จะต้องเกิดขึ้นและพัฒนาตัวมันเองขึ้นมาแน่ๆ นอกโรงเรียน
              จากข้อเท็จจริงตามประเด็นแรกนี้ สรุปได้ว่า โรงเรียนสร้างผลกระทบให้เกิดแก่ผู้เรียนได้ โดยไม่เพียงแต่จากสิ่งที่สอนเท่านั้น  แต่จากสิ่งที่ควรสอนแต่ไม่นำมาสอนอีกด้วย  เพราะสิ่งที่นักเรียนไม่มีโอกาสพิจารณาสิ่งที่เขาไม่มีโอกาสรู้และกระบวนการที่เขาไม่มีโอกาสใช้ จะมีผลต่อการดำรงชีวิตของนักเรียน

              ประเด็นที่สองที่เกี่ยวกับเนื้อหานั้น  ไอส์เนอร์ ชี้แจงว่า  โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกาหรือที่ไหนๆ ในโลกนี้ มักจะสอนเนื้อหาเก่าๆ เดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น ในระดับประถมศึกษาก็จะสอนเกี่ยวกับการสอนเกี่ยวกับการอ่าน การเขียน และการคิดเลขเป็นหลัก แล้วมีสังคมศึกษา วิทยาศาสตร์ทั่วไป สุขศึกษา พลศึกษา และอื่นๆ ในเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีและรูปแบบการดำรงชีวิต ทำไมจึงไม่นำวิชาหรือเนื้อหาอื่นๆ ใหม่ๆ ที่จำเป็นมาสอนบ้าง  เขาได้ให้ความเห็นในจุดนี้ว่า  เนื้อหาวิชาที่สอนกันเรื่อยมาจนเป็นประเพณีของโรงเรียนนั้นไม่ใช่เป็นเพราะขาดการวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงความเป็นไปได้ของการนำเนื้อหาอื่นๆ ใหม่ๆ มาสอน แต่มักจะเป็นเพราะพวกเขาถูกสอนมาอย่างนั้น ครูโดยทั่วไปจะสอนในสิ่งที่เคยสอนกันมาตามนิสัยและความเคยชิน และโดยกระบวนการนี้ทำให้เกิดการละเลยสาขาวิชาใหม่ๆ ที่พิสูจน์แล้วว่า มีคุณประโยชน์ต่อนักเรียนเป็นอย่างมาก เช่น วิชาเศรษฐศาสตร์ เป็นต้น
              จากเหตุผลและแนวคิดดังกล่าวนี้ ถือได้ว่า วิชาเศรษฐศาสตร์  กฎหมาย จิตวิทยาและมนุษยวิทยา เป็นหลักสูตรสูญ ของหลักสูตรระดับประถมและมัธยมศึกษา

              การพิจารณาหลักสูตรสูญในเชิงเนื้อหานั้น มีการมองตั้งแต่การขาดเนื้อหาในระดับวิชาไปจนถึงระดับรายละเอียดหรือหรือหัวข้อย่อยๆ ของวิชานั้นๆ ในกรณีของหลักสูตรสูญในระดับประถมและมัธยมศึกษา สามารถอธิบายให้เห็นได้ว่าการขาดเนื้อหาในระดับวิชา จะปรากฏออกมาในรูปของเนื้อหาที่ขาดหายไป จากรายวิชาของวิชาหลัก เช่น วิชาประวัติศาสตร์ที่สอนกันอยู่โดยทั่วไป  มักจะละเลยการสอน  “ประวัติของวิทยาศาสตร์” ซึ่งถือว่าเป็นรายวิชาหนึ่ง หรือเป็นส่วนหนึ่งของวิชาประวัติศาสตร์

              นอกจากนี้การที่รายวิชาหนึ่งๆ ขาดหรือละเลยหัวข้อหัวเนื้อหาหนึ่งเนื้อหาใดไปก็ถือว่าเป็นหลักสูตรสูญเช่นเดียวกัน ตัวอย่างของการขาดเนื้อหาในระดับนี้ได้แก่การที่ย่อยลงไปกว่านี้ได้แก่   การที่หลักสูตรสูญชีววิทยาขาดการบรรจุเรื่อง “ความคิดเกี่ยวกับวิวัฒนาการ” เอาไว้ระดับย่อยลงไปกว่านี้ได้แก่ การละเลยรายละเอียดเฉพาะของเนื้อหา เช่น หัวข้อเนื้อหาเรื่อง “ผัก” อาจจะครอบคลุมไม่ถึง “ผักกวางตุ้ง.”  หรือ “ผักชี” เป็นต้น

              ทั้งสองประเด็นที่กล่าวมานี้  เป็นมิติที่ไอส์เนอร์ซึ่งเป็นเจ้าของความคิดเรื่องหลักสูญได้กำหนดเอาไว้เป็นหลักในการพิจารณาสิ่งที่ขาดหายไปจากหลักสูตรต่อมาฟลินเดอร์และคณะ (Finders, et.al, 1986) ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ในสถาบันเดียวกันกับไอส์เนอร์ ได้เสนอประเด็นการพิจารณาเพิ่มขึ้นมาอีกประเด็นหนึ่งอันเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาทางด้านอารมณ์และความรู้สึก (affect) อันประกอบด้วยค่านิยม เจตคติ   และอารมณ์ โดยนัยเดี่ยวกัน หลักสูตรสูญตามประเด็นที่สามนี้ ได้แก่ การที่หลักสูตรไม่ได้คำนึงหรือบรรจุความรู้สึก เจตคติ และค่านิยมในบางด้านและบางเรื่องเอาไว้


              2. การนำความคิดของหลักสูตรสูญไปใช้ในการพัฒนาหลักสูตร
              ถึงจุดนี้  ผู้เรียนเข้าใจแล้วว่า  หลักสูตรสูญได้แก่สิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอนหรือสิ่งที่ไม่ได้บรรจุไว้ในหลักสูตร  และสิ่งที่ขาดหายไปจากหลักสูตรจำแนกออกได้เป็น 3 ด้านคือ สิ่งที่ขาดหายไปในรูปของกระบวนการทางปัญญา เนื้อหา และด้านความรู้-ค่านิยม
              คงไม่ยากที่จะทำความเข้าใจแนวคิดของเรื่องนี้  แต่ปัญญาหาที่อยู่ในใจของเราก็คือว่า  เราจะใช้อะไรเป็นตัวกำหนดหรือเป็นกรอบในการพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นส่วนที่ขาดหายไปจากหลักสูตร (หรือหลักสูตรสูญ) เช่น ในกรณีที่เราไม่ได้เปิดสอนวิชาตรรกวิทยาในระดับชั้นอนุบาล  จะถือว่าวิชาตรรกวิทยาเป็นหลักสูตรสูญของหลักสูตรอนุบาลหรือไม่  คำตอบก็คือ  ไม่ใช่  ที่ตอบเช่นนี้ก็โดยเหตุผลที่ว่า  ตามปกติเวลานักพัฒนาหลักสูตรจะกำหนดเนื้อหาลงไปในหลักสูตรนั้น  เขาจะคำนึงถึงความจำเป็น  ความเหมาะสมและความสอดคล้องของเนื้อหาที่มีต่อผู้เรียน  ดังนั้น  เมื่อจะพิจารณาว่ามีกระบวนการใด   หรือเนื้อหาใดขาดไปจากหลักสูตรก็จะต้องมีการกำหนดกรอบ (frame of reference) ที่เป็นกลางๆ เอาไว้อ้างอิง  ถ้าหากหลักสูตรไม่ได้ครอบคลุมถึงสิ่งที่เป็นเนื้อหากลางๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเรียนรู้ของเรียนแล้ว  หลักสูตรเหล่านั้นก็จะด้อยคุณค่าทันที  จากตัวอย่างการพิจารณานำวิชาตรรกวิทยามาบรรจุในหลักสูตรอนุบาลนั้น ต้องถือว่า หลักสูตรสากลของอนุบาลศึกษาจะต้องไม่มีการเรียนวิชาตรรกวิทยา





หลักสูตรเกลียวสว่าน



8. หลักสูตรเกลียวสว่าน (Spiral Curriculum)          
              ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอในระหว่างผู้จัดทำหลักสูตรด้วยกันเอง  ได้แก่  ข้อสงสัยที่ว่าทำไมจึงต้องจัดหัวข้อเนื้อหาในเรื่องเดียวกันซ้ำๆ กันอยู่เสมอในเกือบทุกระดับชั้น  แม้จะได้มีผู้พยายามกระทำตามความคิดที่จะจัดสรรเนื้อหาในแต่ละเรื่องหรือแต่ละหัวข้อให้จบในแต่ละระดับชั้น  แต่ในทางปฏิบัติและในข้อเท็จจริงยังกระทำไม่ได้  เนื่องจากว่าเนื้อหาหรือหัวข้อต่างๆ จะประกอบด้วยความกว้างและความลึก  ซึ่งมีความยากง่ายไปตามเรื่องรายละเอียดของเนื้อหา  นักพัฒนาหลักสูตรยอมรับในปรากฏการณ์นี้และเรียกการจัดเนื้อหาเรื่องเดียวกันไว้ในทุกระดับชั้นหรือหลายๆ ระดับชั้น  แต่มีรายละเอียดและความยากง่ายแตกต่างกันไปตามวัยของผู้เรียนว่า  หลักสูตรเกลียวสว่าน


               1. ความหมาย
              หลักสูตรเกลียวสว่าน หรือบันไดวน (Spiral Curriculum) หมายถึง การจัดเนื้อหาหรือหัวข้อเนื้อหาเดียวกันในทุกระดับชั้น แต่มีความยากง่ายและความลึกซึ้งแตกต่างกัน กล่าวคือ ในชั้นต้นๆ จะสอนในเรื่องง่ายๆ ตื้นๆ แล้งค่อยๆ เพิ่มความยากและความลึกลงไปเรื่อยๆ ตามระดับชั้นที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

              ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้  มีให้พบเห็นได้ในหลักสูตรทั่วๆ ไป  เช่นหลักสูตรประถมศึกษา  พุทธศักราช 2521  ของกระทรวงศึกษาธิการ  ในวิชาคณิตศาสตร์กำหนดให้เรียนเรื่อง การคูณ ทั้งในระดับชั้น ป.1  ป.2  ป.3-4  และ ป.5-6  แต่จะมีความยากและความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง  ในกลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต  จะกำหนดให้นักเรียนเรียนเรื่อง พืช  ในทุกระดับชั้นจาก ป.1-6  โดยจะมีรายละเอียดมากขึ้น  และลึกลงเรื่อยๆ


             2. ที่มาของแนวความคิดเรื่องหลักสูตรเกลียวสว่าน
              บรูเนอร์  (Bruner, 1960)  เป็นนักการศึกษาท่านหนึ่งที่มีบทบาทมากในการเผยแพร่ความคิดเรื่องหลักสูตรเกลียวสว่าน  บรูเนอร์มีความเชื่อว่า  ในเนื้อหาของแต่ละเนื้อหาวิชาจะมีโครงสร้างและการจัดระบบที่แน่นอน  จึงควรนำความจริงในข้อนี้มาใช้กับการจัดหลักสูตร  โดยการจัดลำดับเนื้อหาให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ  อย่างมีระบบ  จากง่ายไปหายาก  จากแนวความคิดนี้จึงมีการพัฒนาหลักสูตรในลักษณะบันไดวน  หรือเกลียวสว่าน  คือให้ลึกและกว้างออกไปเรื่อยๆ  ตามอายุและพัฒนาการของเด็ก

              การพัฒนาหลักสูตรควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ความคิด  หรือหัวข้อเนื้อหาพื้นฐานซ้ำแล้วซ้ำอีก  จนกว่านักเรียนได้เรียนรู้ความคิดรวมของเรื่องนั้นๆ  บรูเนอร์เชื่อว่า  เราสามารถสอนเรื่องใดๆ  ให้แก่นักเรียนที่มีอายุเท่าใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าเด็กจะมีความพร้อมเต็มที่  และเขาได้ย้ำในประเด็นนี้ว่า  เป็นไปได้ที่จะสอนความคิดและตัวแปรต่างๆ ให้แก่เด็กได้ตั้งแต่เยาว์วัย  และไม่จำเป็นต้องรอจนถึงเวลานั้นๆ

              จากการนำแนวความคิดของหลักสูตรเกลียวสว่านไปใช้กับการสอนวิชาวิทยาศาสตร์  ฟรอสท์และโรแลนด์  (Frost and Roland,1969)  ได้ยืนยันว่า  หลักสูตรเกลียวสว่านช่วยในการอำนวยความสะดวกในการเรียนการสอนอย่างมีลำดับขั้นตอนของโครงสร้างวิชาวิทยาศาสตร์บูรณาการเข้ากับกระบวนการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ได้อย่างดี  ได้ยืนยันเพิ่มเติมว่า  ไม่เพียงแต่มีการนำหัวข้อเนื้อหาเดียวกันมาศึกษาในระดับชั้นที่ต่อเนื่องกันเท่านั้น  แต่ยังมีการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้มีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ  ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและวัยอีกด้วย  จึงสรุปได้ว่า  เนื้อหาสาระและกระบวนการเรียนรู้ของเด็กกับนักวิชาการระดับสูงแตกต่างกันเพียงปริมาณหรือความเข้มเท่านั้น  ไม่ใช่ประเภทหรือชนิด


               3. หลักสูตรเกลียวสว่านตามแนวคิดของดิวอี้
              ดิวอี้  (Dewey, 1938)  มีแนวคิดเรื่องหลักสูตรสว่านแตกต่างไปจากบรูเนอร์ กล่าวคือ ดิวอี้  มีความเชื่อว่า การเจริญงอกงามขึ้นอยู่กับการฝึกใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหาที่ได้มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่าจากปัญหาที่กำหนดให้จากภายนอก  และในขณะที่ผู้เรียนฝึกใช้สติปัญญากับการแก้ปัญหาเหล่านี้  เขาจะได้ความคิดใหม่ๆ  และพลังในการทำงาน  ซึ่งจะเป็นฐานสำหรับแก้ปัญหาอื่นๆ  อีกต่อไป  ในการปฏิบัติเช่นนั้นผู้เรียนจะเข้าใจถึงความสำคัญระหว่างกันของความรู้ในสาขาต่างๆ  และการประยุกต์ความรู้ไปใช้ในเชิงสังคมได้กว้างขวางขึ้น  กระบวนการจึงเป็นเสมือนเกลียวสว่านที่มีลักษณะต่อเนื่องและรับช่วงกันไป

              ดังนั้น  เกลียวสว่านของดิวอี้จึงไม่ได้เริ่มที่ประสบการณ์ของผู้เรียนแต่เพียงประการเดียว  ซึ่งนอกเหนือไปจากเนื้อหาวิชาที่จัดไว้สำหรับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่แต่มองประสบการณ์ทางการศึกษาว่า  เป็นการขยายความสนใจและสมรรถภาพของผู้เรียนไปสู่ประสบการณ์การเรียนรู้ที่สูงขึ้นและกว้างขึ้น  ดังนั้น  การเลือกเนื้อหาสาระที่จะต้องก้าวไปเรื่อยๆ จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับการเจริญงอกงามของประสบการณ์  ยกตัวอย่าง  เช่น  การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์นั้น  ดิวอี้ได้ยืนยันว่าไม่แต่การนำไปสู่ความเข้าใจวิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้นเท่านั้น  แต่จะต้องนำไปสู่ความเข้าใจปัญหาของสังคมในขอบข่ายที่กว้างขึ้นและที่ดีขึ้นด้วย  ในประเด็นนี้  จำเป็นต้องมีการสังเคราะห์หลักสูตรให้สมบูรณ์ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน  ในแนวตั้ง  หมายถึง  การขยายความรู้ไปสู่ระดับที่สูงขึ้นไป  ส่วนแนวนอน  หมายถึง  ความจำเป็นที่จะต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกันของความรู้